ถอดบทเรียนการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22
Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare
เรื่อง “R2R ผ่าทางตัน เขย่าวิธีเรียนแสนสนุกในยุคโควิด
วันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 14.30 น.
รูปแบบผสมผสาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ และสถานที่
ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
พญ.อารีรัตน์ สิริพงศ์พันธ์ : สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
พญ.ธิดารัตน์ ปุรณะชัยคีรี : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผศ. นพ.พนม เกตุมาน : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ดำเนินรายการ
รศ. ดร. พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

พญ.ธิดารัตน์ ปุรณะชัยคีรี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำเสนอที่มาของการศึกษาวิจัยความเครียดในนักศึกษาแพทย์ และการสนับสนุนที่ต้องการได้รับจากโรงเรียนแพทย์ในช่วงโควิด-19 โดยสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลลดลง ในแผนกจิตเวชศาสตร์เองก็เช่นกัน โดยมีการผลัดเปลี่ยนบทบาทไปทำงานยังแผนกอื่น ๆ และถือเป็นโอกาสที่ดีในการรวมตัวเพื่อทำงานวิจัย เพราะมีประชาชน/บุคลากรหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด่านหน้า บุคคลทั่วไป นักศึกษาแพทย์ หรือในเด็ก แต่พบว่าในกลุ่มนักศึกษาแพทย์มีความเครียดสูง ทั้งเรื่องการเรียน การขึ้นหอผู้ป่วย การมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ การปรับตัวเรื่องการเรียน จึงมีการปรึกษาเพื่อให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา ร่วมกับการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R)

ด้านกระบวนการดำเนินงานวิจัย มีการรวบรวมโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่พบอุปสรรคบ้างเนื่องจากต้องรวบรวมข้อมูลให้ไว เพื่อนำผลไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน และผู้วิจัยไม่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยแบบออนไลน์ จึงต้องมีการศึกษากระบวนการทำวิจัยในการเก็บข้อมูลให้ปลอดภัย หลังจากนั้นจึงมีการเก็บข้อมูลผ่าน google form

พญ.อารีรัตน์ สิริพงศ์พันธ์ สํานักวิชาแพทยศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี เป็น 1 ใน 11 โรงเรียนแพทย์ที่ร่วมโครงการ นำเสนอบริบทและการดำเนินการวิจัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีปัญหาคล้าย ๆ กับของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีการปรับแผนกในการทำงานตามนโยบายของโรงพยาบาล ในการเก็บข้อมูลใช้การประชาสัมพันธ์และเก็บแบบสอบถามผ่านระบบ ปัญหาที่พบคือ การตอบกลับแบบสอบถามมีจำนวนน้อย ต้องใช้การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และได้รับแบบสอบถามกลับจากชั้นปรีคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ต้องใช้วิธีการกระตุ้นเพื่อให้ได้การตอบกลับแบบสอบถามที่หลากหลาย

ผศ. นพ.พนม เกตุมาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง fanpage “ก่อการครูแพทย์” มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเป็นครูแพทย์โดย Transformative Learning (TL) โดยให้แนวคิดว่า ถ้าผู้สอนมีความสุข ผู้เรียนก็จะมีความสุขด้วย page “ก่อการครูแพทย์” รวบรวมเครื่องมือต่าง ๆ ให้กับอาจารย์แพทย์ในการจัดการเรียนการสอนให้สนุก และมีประสิทธิภาพ  กลายเป็น community ในการเรียนรู้ ใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ได้ โดยทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีความสนุก ทำให้นักเรียนไม่เกิดความเครียด

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> R2R ผ่าทางตัน เขย่าวิธีเรียนแสนสนุกในยุคโควิด (66 downloads )

ผู้บันทึกบทเรียน
นางสาววิจิตรา นุชอยู่
งานจัดการความรู้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.