รายการ KM Society ครั้งนี้พาทุกท่านมาพบกับ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) แสง เสียง และอุปกรณ์ ซึ่งเป็น CoP น้องใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 โดยมีการดำเนินการ และจุดมุ่งหมาย ดังนี้

นายธรรมธร บัญชาบุษบง กล่าวว่า สาขาแสง เสียง และอุปกรณ์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกเดือน ในชื่อโครงการ “เรื่องเล่าเพื่อพัฒนา” ซึ่งเป็นโครงการที่ให้สมาชิกนำเสนอเรื่องเล่าใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และส่งผลให้เกิดประโยชน์กับงานที่ทำ โดยหลังจากดำเนินโครงการติดต่อกัน 8 เดือน ทางสาขาแสง เสียง และอุปกรณ์ ได้พบว่าเรื่องเล่าที่ดำเนินการในโครงการนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ จึงได้เชิญหน่วยงานจัดการความรู้ (KM) มาให้ความรู้ และเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมในโครงการเรื่องเล่าเพื่อพัฒนา ซึ่งพบว่าการทำกิจกรรมดังกล่าว เป็นการแบ่งปันความรู้ แต่ยังขาดกระบวนจัดเก็บและการเผยแพร่ความรู้อย่างเป็นระบบ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) เพื่อให้กระบวนการจัดการความรู้สมบูรณ์และครบกระบวนการตาม Siriraj KM strategy Link – Share – Learn

สาขาแสง เสียง และอุปกรณ์ สถานเทคโนฯ ได้จัดตั้งกลุ่ม CoP แสง เสียง และอุปกรณ์ อย่างเป็นทางการ โดยมี ผศ. ดร.พุฒินันท์ แพทย์พิทักษ์ หัวหน้าสถานเทคโนฯ เป็นที่ปรึกษา (expert) หัวหน้าสาขาแสงเสียงและอุปกรณ์ คือ นายธรรมธร บัญชาบุษบง ทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม (facilitator) และมีผู้ดูแลการเผยแพร่ข้อมูล (admin) ผู้จดบันทึก (historian) และสมาชิก (member) ร่วมทีมทั้งหมด 5 คน ซึ่ง วัตถุประสงค์ของกลุ่ม CoP เพื่อให้เกิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และกำหนดเป้าหมายในการสร้างสาระความรู้จำนวน 2 เรื่อง/ปี หลังจากที่เปิด CoP อย่างเป็นทางการ ณ ปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ครบ 1 ปี แต่กลุ่ม CoP ได้เผยแพร่สาระความรู้ผ่าน Siriraj KM website แล้ว 3 เรื่อง ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

หลังจากกระบวนการจัดตั้งกลุ่ม CoP และเผยแพร่สาระความรู้ผ่าน Siriraj KM website ทีมได้เผยแพร่ความรู้ไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ความรู้ เรื่อง เสียงดีแน่ ถ้าเข้าใจ VU Meter ที่จะช่วยให้รู้ว่าจะต้องใช้เกณท์ความดังเสียงอยู่ที่เท่าใดถึงจะเหมาะสมที่สุด โดยมีการ ขยายผล ไปยังสาขาวิดีทัศน์เพื่อการศึกษา เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เสียงอย่างมาก ตั้งแต่กระบวนการออกกองเพื่อบันทึกเสียง การตัดต่อเสียง และการถ่ายทอดสัญญาณเสียงให้กับผู้รับฟัง (อ่านบทความสาระความรู้อื่น ๆ ได้ที่ CoP แสง เสียง และอุปกรณ์) และจากการค้นคว้าข้อมูลสาระความรู้ จนถึงแกร่นที่แท้จริงของข้อมูลเหล่านั้น ทำให้ได้บทเรียนว่า ข้อมูลที่ได้มีความเป็นมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ได้จริงตามหลักสากล และหากทำตามสาระความรู้ของกลุ่ม CoP จะทำให้ผลที่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ

ในการดำเนินงานย่อมต้องเกิด อุปสรรค ทางกลุ่ม CoP แสง เสียง และอุปกรณ์ ก็พบปัญหาเช่นกัน คือการเลือกเรื่องที่จะนำมาเป็นสาระความรู้ก่อน-หลัง เพราะประเด็นสาระความรู้หรืองานที่กลุ่ม CoP ทำจะมีความสอดคล้องกับเทคโนโลยี เป็นความรู้ที่มาเร็วและหายไปเร็ว หากเผยแพร่ความรู้ช้า ความน่าสนใจของเรื่องที่เผยแพร่จะลดน้อยลงไป แต่ทั้งนี้ ผลลัพธ์ หลังจากที่สาขาแสง เสียง และอุปกรณ์ สถานเทคโนฯ ได้ดำเนินการกลุ่ม CoP ซึ่งจากเดิมที่เป็นเรื่องเล่าเพื่อพัฒนา แต่การทำ CoP ทำให้ทีมเกิดการผสมผสานความรู้และข้อมูลเข้าด้วยกัน เกิดความรู้ที่มีประโยชน์และเป็นเรื่องใหม่ เพิ่มการแก้ไขปัญหา เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิเคราะห์ในงานที่ทำ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน นายธรรมธร บัญชาบุษบง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสื่อสารองค์กร ของสถานเทคโนฯ จึงได้ใช้ช่องทางนี้ในการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนชาวสถานเทคโนฯ ให้มีการจัดตั้งกลุ่ม CoP และแนะนำให้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดการความรู้ให้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายนี้ นายธรรมธร บัญชาบุษบง ยังได้กล่าวเชิญชวนทุก ๆ ท่านมาร่วมกันพัฒนางาน และร่วมกันสร้างความรู้ โดยรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายให้เป็นหลักแหล่ง เข้าถึงได้ง่าย โดยการมาเป็นกลุ่ม CoP Link-Share-Learn

ดาวน์โหลดบทความได้ที่ >> CoP น้องใหม่ “แสง เสียง และอุปกรณ์” (99 downloads )
ดาวน์โหลดวิดีโอ >> KM Society : CoP น้องใหม่ไฟแรง แสง เสียง และอุปกรณ์ (72 downloads )

ผู้บันทึกบทเรียน           นางสาวชลิตา  มิ่งขวัญ
ผู้ตรวจสอบบทเรียน      นายธรรมธร บัญชาบุษบง
ที่ปรึกษาด้านเนื้อหา      นายเอกกนก  พนาดำรง (หัวหน้างานจัดการความรู้)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.